พฤติกรรมชอบแย่ง และหวงของเล่น

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกสุดที่รักรู้จักแบ่งปัน ไม่ว่าจะกับพี่น้อง หรือเพื่อนคนอื่น แต่ถ้าลูกเป็นเด็กขี้แย่ง และหวงของเป็นที่สุด

พฤติกรรมชอบแย่ง และหวงของเล่น

พญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก และวัยรุ่น เขียนอธิบายไว้ในหนังสือเคล็ดลับเลี้ยงลูก 4 ดี ว่า เด็กอายุ 1 ขวบครึ่ง-2 ขวบครึ่ง มักจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทุกอย่าง ทำให้หลายๆ คนเป็นนักแย่งมือฉกาจ และหวงของเล่นมาก เมื่อถูกแย่งของมักจะจู่โจมเพื่อทวงของคืนอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นทุบที หรือขว้างปาสิ่งของกันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เด็กยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กเป็นคนก้าวร้าวหรืออารมณ์รุนแรง แต่เด็กรับรู้เฉพาะความรู้สึกต้องการของตัวเองเท่านั้น

สำหรับวิธีปรับพฤติกรรมให้เด็กรู้จักแบ่งปัน ไม่ขี้แย่ง หรือหวงของเล่นนั้น 
1. พ่อแม่ไม่ควรลงโทษให้เด็กเกิดความอายหรือเสียหน้า เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกถูกทอดทิ้ง ผลที่ตามมาคือ เด็กจะก้าวร้าวมากขึ้น และสับสนในเรื่องสิทธิและระเบียบวินัย 
2. ถ้าเด็กจะไปแย่งของคนอื่น พ่อแม่ควรจับมือออก ไม่ให้แย่ง และไม่ดุเด็ก หรือใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจไปสิ่งอื่น

ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า เด็กชอบแย่ง และหวงของเล่น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก เพราะเด็กวัยนี้จะจดจำและเลียนแบบพฤติกรรม ควรชมเมื่อลูกให้ของคนอื่น หรือชมเด็กอื่นให้ลูกเห็นเมื่อลูกได้รับการแบ่งปัน

ตัวอย่างบทสนทนากับเด็ก
“เวลาจะสอนเด็ก ให้นึกก่อนว่า เราจะสอนทักษะอะไรให้เด็ก ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ดุ หรือว่าเด็ก หากเด็กชอบแย่งของเล่น ไม่ควรคิดไปก่อนว่า ลูกหรือหลานเราอยากได้ของคนอื่น เขาแค่อยากเล่นค่ะ ดังนั้น คุยกับลูกว่า หนูอยากเล่นใช่ไหมคะ ลองถามเพื่อนดูสิว่า ขอเล่นได้ไหม ถ้าเพื่อนบอกว่าเล่นไม่ได้ ลองบอกลูกไปว่า ตอนนี้เพื่อนคงยังไม่พร้อมที่จะแบ่ง เดี๋ยววันหนึ่งที่เพื่อนพร้อม เขาก็จะแบ่งหนูเล่นเอง แต่วันนี้แม่พร้อมที่จะแบ่งลูกแล้ว เราไปเล่นอย่างอื่นกัน ตรงนี้จะช่วยปรับเปลี่ยนอารมณ์ของเด็กให้สงบ และลดความอยากได้อยากเล่นของของเพื่อนลงไปได้”

“ส่วนในกรณีที่เด็กไม่รู้จักแบ่งของ ควรฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ลองสร้างสถานการณ์สอนทักษะการแบ่งปันให้เด็กด้วยการพูดคุยกันก่อนว่า
“ถ้าหนูยังไม่พร้อมที่จะแบ่งน้อง/เพื่อน แม่ก็จะให้หนูเล่น” จากนั้นปล่อยให้เด็กเล่นไป แต่ในขณะที่เด็กกำลังเล่น ลองสร้างสถานการณ์การเล่นที่สนุกขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง เชื่อเถอะค่ะว่า เด็กจะวิ่งมาเล่นด้วย ตรงนั้นล่ะค่ะ สอนทักษะเขาเลยว่า “หนูพร้อมที่จะแบ่งเล่นกับเพื่อนๆ แล้วเหรอคะ โอเคค่ะ ตอนนี้แม่พร้อมที่แบ่งหนูเล่นแล้ว หนูพร้อมที่จะแบ่งเพื่อนหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วเรามาเล่นด้วยกัน” แต่ถ้าเด็กไม่พร้อมที่จะแบ่ง ไม่ควรบังคับจิตใจเขามาก เพราะยิ่งบังคับ หรือลงโทษเด็ก จะยิ่งทำให้เด็กเกิดความก้าวร้าว ทางที่ดี ใจเย็นๆ และค่อยๆ สอนไปค่ะ”

ข้อมูลจากผู้จัดการ Online | Life & Family 
ประกอบจาก toysbros.com
#อาหารสมอง #ภัยร้ายในเด็ก #เด็กติดมือถือ #เด็กติดไอแพดแท็บเล็ต #เด็กติดจอ#เด็กสมาธิสั้น #ลูกสมาธิสั้น #ลูกดื้นโววายไม่นิ่ง #เสริมพัฒนาการเด็กตามวัย#จิตแพทย์ชี้เด็ก #ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กตามวัย #เด็กชอบ #ของเล่นสำหรับลูกตามวัย #ขายของเล่นออนไลน์ #รีวิวของเล่นเด็ก #แนะนำของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก#Amarinbabykids #ของเล่นเด็ก #toptoys #besttoy #ราคาของเล่นเด็ก #วิธีสอนด็ก#IQเด็ก #วิธีสอนเด็ก #สมองเด็ก #เพลงกล่อมเด็กพัฒนาสมอง

Leave a Reply