พัฒนาการทางร่างกายและการส่งเสริมเด็กเล็ก

ทารกในช่วงหนึ่งเดือนแรกยังต้องการการนอนหลับพักผ่อนมากถึง 12-14 ชั่วโมง และเมื่อตื่นก็มักจะใช้เวลาไปกับการดูดนม การเปลี่ยนผ้าอ้อม และการมองสิ่งต่างๆ รอบตัวในบางครั้งคราว และหลายครั้งก็จะร้องไห้อย่างหาสาเหตุไม่ได้ อย่างไรก็ตามการนอนของทารกไม่ได้หยุดยั้งพัฒนาการแต่อย่างใด แต่เขาสามารถรับรู้ถึงแรงกระตุ้นและตอบสนองกับสิ่งเร้าต่างๆ แม้ว่าดวงตาของเขาจะปิดก็ตาม หรืออาจจะกล่าวได้ว่าทารกจะหลับสนิทประมาณ 20-30% เท่านั้น นอกนั้นจะเป็นการเคลิ้มหลับ ตารางเวลาของทารกจะตื่นทุกๆ 3 ชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรกตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 2 คุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มจับกิจวัตรประจำวันและอากัปกิริยาของลูกเวลานอนได้มากขึ้น
อาทิ

  • ครางหงิงๆ เบาๆ
  • ทำหน้าเหยเก
  • แสยะยิ้มหรือทำหน้านิ่วคิ้วขมวด
  • ดูดปากเองเสียงดังจุ๊บจั๊บ
  • หายใจไม่สม่ำเสมอ
  • มีอาการกระตุกที่ใบหน้า
  • เปลือกตาเผยอเล็กน้อยและดวงตาคู่เล็กๆ มักชำเลืองไปมา


พัฒนาการทางร่างกาย
        ร่างกายของทารกช่วงนี้มักจะอยู่ในผ้าห่มอุ่น และยังต้องการความปลอดภัยจากการห่อหุ้มนี้ เพราะถ้าผ้าหลวมเกินไปก็จะทำให้ผวาและร้องไห้ได้ และจะเห็นได้ว่าพัฒนาการทางร่างกายของทารกยังไม่มีการพัฒนามากนัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายทารกวัย 1 เดือนมีพัฒนาการที่ดี คือ การเตรียมเสื้อผ้าให้พอดีตัว ผ้าอ้อมแห้งไม่เปียกชื้น และผ้าห่มที่อุ่นสบาย จะช่วยให้เขามีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีได้เช่นกัน

พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารกวัย 1 เดือน ได้แก่
– ถ้าดึงแขนลูกขณะนอน ทารกจะพยายามยกศีรษะตั้งตรงกับแนวหลัง
– เมื่อนอนหงายจะพลิกตัวได้
– ยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงเองได้
– ชอบเอากำปั้นเข้าปาก เมื่อแกะมือออกจะทำท่าเหมือนฉวยจับด้ามช้อน
– เปิดประสบการณ์อย่างแรกด้วยดวงตา

        นักวิจัยและนักพัฒนาการเด็กมีความเชื่อว่า การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพัฒนาการด้านสายตา จะช่วยให้ลูกตอบสนองได้ดีกว่าการปล่อยให้ลูกมองสิ่งต่างๆ เองตามธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้การมองแบบไร้จุดหมายมีจุดหมายขึ้น อย่างเช่น โมบาย ภาพเคลื่อนไหว เสียงกระดิ่ง เป็นต้น

– เด็กจะมองชัดเมื่อวัตถุเข้าใกล้ประมาณ 8-10 นิ้ว
– มองตามแสงหรือใบหน้าคน
– มองตามสิ่งของจากบนลงล่างและไปด้านข้างได้แล้ว นัยน์ตา 2 ข้างเริ่มประสานกัน

พัฒนาการปฎิกิริยาสะท้อนกลับ
        ทารกวัย 1 เดือนมีปฎิกิริยาสะท้อนกลับไวขึ้น ก็จะมีการกระตุกน้อยลง เพราะสมองและเส้นประสาทต่างๆ เริ่มทำงานเป็นระบบควบคู่กับกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น บวกกับลูกจะหายใจเป็นจังหวะมากขึ้น มีอาการสะดุ้ง ตกใจ ผวา ลดลง อาจจะสังเกตว่าเหลือแต่มือและเท้าที่กระตุกในบางครั้งเท่านั้น

พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ และการส่งเสริม
        ในเดือนแรกนี้ทารกมักจะหงุดหงิดต่อสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวน ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนจากสิ่งเร้าภายนอก หรือการบิดตัวของตนเองก็สามารถหงุดหงิดได้เช่นกัน แต่เป็นช่วงที่ทารกกำลังเรียนรู้ที่จะปรับตัว ซึ่งจะพบว่าทารกจะร้องไห้เก่งขึ้นและกินนมบ่อยขึ้นกว่าสัปดาห์แรก บางครั้งคุณก็จะเห็นลูกยิ้มน้อยๆ เหมือนกับอารมณ์ดีทักทายคนอื่นๆ แต่ว่าการยิ้มนี้มักจะเกิดขึ้นช่วงนอนหลับ และเกิดจากกล้ามเนื้อกระตุกยิ้มให้เท่านั้นเอง
        สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลคือ การร้องไห้ ลูกมักจะร้องเพราะหิวนม เปียกชื้น หงุดหงิด และการร้องไห้มิใช่เรื่องของอารมณ์เพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือลูกต้องการสื่อสารให้เราทราบบางอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งจะแสดงออกด้วยการร้องไห้นั่นเอง บางครั้งลูกจะร้องไห้ 4-5 ครั้ง นาน 20-30 นาทีต่อวัน ดังนั้นเมื่อลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับอารมณ์ของลูกได้โดยการอุ้มปลอบโยน ปล่อยให้ลูกนอนเล่นเงียบๆ พูดคุยจ้องหน้า เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย แล้วลูกก็มักจะผลอยหลับไปเอง
        แม้ว่าลูกจะมีอายุได้แค่เดือนเดียวแต่เขาก็สามารถรับคลื่นความเครียดจากคุณพ่อคุณแม่ได้ ถ้าคุณแม่เริ่มเครียดเรื่องค่าใช้จ่าย คุณพ่อเครียดเรื่องงาน ลูกจะรับรู้ได้ทันทีและจะโยเยอย่างไม่มีเหตุผลบ่อยครั้ง แต่หากคุณพ่อคุณแม่เข้าหาลูกด้วยท่าทีอารมณ์ดี ลูกก็จะเป็นเด็กที่แจ่มใสโยเยน้อยกว่าด้วย

พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจที่เด่นชัดของทารกวัย 1 เดือน ได้แก่
– ทำสีหน้าพอใจเมื่อสบาย และทำสีหน้าทางลบเมื่อรู้สึกเจ็บ
– หากได้สบตาคุณพ่อคุณแม่หรือคนคุ้นเคย จะมีอารมณ์ดีขึ้น
– เริ่มจำเสียงพ่อแม่ได้แล้ว
– ปรับท่าทางตัวเองให้เหมาะกับการอุ้มของคุณพ่อคุณแม่

พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม
        ภาษาและการสื่อสารของทารกวัย 1 เดือนยังเป็นการร้องไห้เพื่อเรียกร้องความต้องการของตนเอง คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเข้าใจลักษณะการร้องว่าลูกต้องการอะไร แต่เด็กยังไม่สามารถแยกแยะการกระทำต่างๆ ของตนเองและคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่สิ่งพิเศษสุดคือเขาสามารถจดจำเสียงคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวได้แล้ว

พัฒนาการทางภาษาที่เด่นชัดของทารกวัย 1 เดือน ได้แก่
– โต้ตอบอือออบ้างเมื่อได้ยินเสียงคน
– สนใจและตอบสนองของของเล่นที่มีสีสันสดใส
– มองหาต้นกำเนิดเสียงที่ตนเองคุ้นเคย

พัฒนาการทางสังคมและการส่งเสริม
        สังคมของทารกวัย 1 เดือนจะมีเพียงบรรยากาศรอบๆ ตัวและคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ซึ่งช่วงนี้เขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกได้บ้างแล้ว และพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จะสังเกตได้ว่าลูกชอบมองหาสิ่งแปลกใหม่เสมอ และลูกจะเริ่มนอนน้อยลง จะชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ชอบให้อุ้ม คุย กอด ทำให้อารมณ์ดีและมีรอยยิ้มอยู่เรื่อยๆ

พัฒนาการทางสมองและการส่งเสริม
        พัฒนาการทางสมองของทารกวัย 1 เดือนจะเรียนรู้ได้อย่างเป็นขั้นตอน สมองและระบบประสาทกำลังเชื่อมต่อได้อย่างดีขึ้นเรื่อยๆ และรู้จักการปฏิบัติตัวกลับบ้างในบางครั้ง อย่างเช่น ขยับร่างกายให้แม่อุ้มได้ง่ายขึ้น เป็นต้น สิ่งสำคัญของการพัฒนาสมองคือการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสายตาดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

Deklen รีวิวผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็ก ติดตามรีวิวผลิตภัณฑ์เด็กและข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กได้ที่
 FACEBOOK : https://www.facebook.com/Deklen2017/
 LINE : @deklenthai
 INSTAGRAM : deklenthai
 WEBSITE : https://deklenthai.com/

VIMEO : https://vimeo.com/deklen

YOUTUBE CHANNEL : https://www.youtube.com/channel/UCy12E4PqMxYkC1cuNiomvXQ?view_as=subscriber 

รับงานรีวิวของเล่นเสริมพัฒนาการและผลิตภัณฑ์เด็กทุกชนิดจากผู้ใช้งานจริง ติดต่องานได้ที่ LINE : @deklen

Leave a Reply